วรุณาจับมือข้าวหงษ์ทอง เริ่มโครงการเกษตรอัจฉริยะสู่ความยั่งยืน มุ่งพัฒนา Smart Farm Solution นำเทคโนโลยีและความรู้ยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย

วรุณาจับมือข้าวหงษ์ทอง ริเริ่มโครงการเกษตรอัจฉริยะสู่ความยั่งยืน
มุ่งพัฒนา Smart Farm Solution นำเทคโนโลยีและความรู้ยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย

บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด หรือ VARUNA ผู้นำการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ

เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส หรือ ARV ในเครือปตท.สผ. ร่วมลงนามความร่วมมือกับบริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด หรือ BSCM ผู้ผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงในชื่อตราสินค้า
“ข้าวหงษ์ทอง” โดยร่วมกันริเริ่มโครงการ “เกษตรอัจฉริยะสู่ความยั่งยืนในแปลงข้าวและการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์นำเทคโนโลยี Smart Farm Solution จาก วรุณามาใช้วิเคราะห์ วางแผนคาดการณ์ผลผลิต และบริหารจัดการแปลงเกษตรแบบครบวงจร (End-to-End Solution) สำหรับอุตสาหกรรมข้าวไทยด้วยนวัตกรรมที่สนับสนุนความยั่งยืน ผ่านการอบรมส่งเสริมองค์ความรู้
ให้ผู้ประกอบการภาคการเกษตรและเกษตรกร สามารถต่อยอดการเกษตรอัจฉริยะแบบครบวงจรจนเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรของประเทศไทย

นางสาวพณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “วรุณาเล็งเห็นความสำคัญของการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง BSCM ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง “ข้าวหงษ์ทอง” และเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในไทยและระดับโลก เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความยั่งยืนของพืชผลทางการเกษตร ผ่านการส่งมอบองค์ความรู้ และทักษะด้านนวัตกรรมสู่เกษตรกรไทย โดยโครงการเกษตรอัจฉริยะสู่ความยั่งยืนในแปลงข้าวและการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ วรุณานำเทคโนโลยี Smart Farm Solution ช่วยจัดการพื้นที่แปลงนาข้าวของ BSCM เพื่อบริหารจัดการแปลงเกษตรอัจฉริยะแบบครบวงจร (End-to-End Solution) ตั้งแต่การวิเคราะห์ วางแผนการเพาะปลูกข้าว และจัดการแปลงข้าวด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม (Satellite) กับโดรนสำรวจและภาพถ่าย (Multispectral Drone) นำดาต้ามาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำผ่านแพลตฟอร์ม “Varuna Analytics” ช่วยติดตามสุขภาพของข้าว
(Crop Health Monitoring) ติดตามการเจริญเติบโต (Growth Stage Monitoring) และช่วยคาดการณ์ผลผลิต (Yield Prediction) ว่าได้มาตรฐานที่ควรจะเป็นตามระยะเวลานั้น ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังใช้โดรนการเกษตร (Sprayer Drone) “เจ้าเอี้ยง” ช่วยดูแลเรื่องการพ่นปุ๋ยและฉีดผลิตภัณฑ์การเกษตรได้สะดวกขึ้น สามารถเข้าถึงแปลงนาข้าวขนาดใหญ่ได้ง่ายและรวดเร็ว มั่นใจในประสิทธิภาพการพ่นปุ๋ยตรงแปลง ไม่เปลืองผลิตภัณฑ์การเกษตร ช่วยลดเวลาการทำงาน และเกษตรกร
ไม่ต้องสัมผัสสารเคมี ทั้งนี้ วรุณาจะมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้จัดการฝึกสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ”

ด้าน ดร.วัลลภ มานะธัญญา ประธานบริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวหงษ์ทอง กล่าวว่า “ในปัจจุบัน เกษตรกรข้าวไทยต้องเผชิญปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน และขาดโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเฉพาะเกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีทุนหรือช่องทางเข้าถึงทรัพยากรได้ดีเท่ากับรายใหญ่ อีกทั้งการที่เกษตรกรจำนวนมากเป็นผู้สูงวัย ทำให้ยังนิยมใช้วิธีเพาะปลูกข้าวในแบบดั้งเดิม ส่งผลให้ผลิตผลไม่ได้คุณภาพ อีกทั้งกระบวนการหลายส่วนยังก่อให้เกิดมลภาวะต่อโลกอีกด้วย

บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง หรือ BSCM เป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงของไทยสู่ตลาดโลกที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมข้าวมากว่า 8 ทศวรรษ เราเห็นคุณค่าของความรู้และทักษะด้านนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพึงมี เพื่อยกระดับคุณภาพการเกษตรไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น จึงได้ลงนามความร่วมมือกับวรุณา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ หน่วยงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ให้มีความรู้ความเข้าใจและทักษะด้านเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ โดยจากมุมมองของเรา วรุณาคือผู้นำด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่นำร่องการใช้นวัตกรรมนำสมัยมาพัฒนาระบบ Smart Farming ช่วยอุตสาหกรรมเกษตรของไทยในการจัดการเรื่องต่าง ๆ นอกจากเพิ่มคุณภาพผลผลิตเพราะได้นวัตกรรมที่ล้ำสมัยมาช่วยตรวจสอบกระบวนการเพาะปลูก และคาดการณ์ผลผลิตได้อย่างแม่นยำ จึงเชื่อมั่นได้ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ สามารถนำ Know-How ที่มีมาร่วมกับ BSCM ในการจัดทำหลักสูตรเสริมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร ใช้ระบบการจัดการแปลงข้าวแบบ Smart Farming เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน สร้างผลผลิตที่ดีออกสู่ตลาด ส่งผลดีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

สำหรับโครงการที่จะเกิด BSCM จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรการอบรมร่วมกับวรุณา รวมถึงการประชาสัมพันธ์ การประสานงาน และคัดเลือกหน่วยงาน เกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ารับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในสถานที่ที่ได้จัดไว้ ได้แก่ พื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวนาปี จังหวัด
ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี และพื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูกข้าว จังหวัดปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา ตลอดจนเป็นผู้ร่วมติดตามการดำเนินงานและการจัดกิจกรรมตลอดโครงการ โดยในท้ายที่สุด ทางบริษัทฯ ต้องการให้มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนสมาชิกที่ได้ร่วมโครงการหงษ์ทองนาหยอด ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 3,000 ราย นอกจากนั้น เรายังต้องการให้เกษตรกรไทยมีการจัดการที่ดีขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพสูง ต้นทุนต่ำ และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านเกษตรกรรมในระดับมหภาคของประเทศ”

“ในมุมของวรุณา เราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือดังกล่าวจะสามารถส่งมอบความรู้ และทักษะด้านการใช้นวัตกรรมในการจัดการผลผลิตให้กับผู้เข้าอบรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรไทย อีกทั้งยังสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ สำหรับแบ่งปันองค์ความรู้ที่ถูกต้องและการจัดการเกษตรอัจฉริยะแบบครบวงจรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สู่ยุคการเกษตรใหม่อันมีเทคโนโลยีที่สนับสนุนแนวคิดเพื่อความยั่งยืนเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรม” นางสาวพณัญญา กล่าวสรุป