‘ห้วยทรายโมเดล’ วิสาหกิจชุมชน จ.สุราษฎร์ธานี ต้นแบบการพัฒนา เกษตรแปรรูปครบวงจร สร้างรายได้กลุ่ม ปีละ 4.67 ล้านบาท

‘ห้วยทรายโมเดล’ วิสาหกิจชุมชน จ.สุราษฎร์ธานี ต้นแบบการพัฒนา เกษตรแปรรูปครบวงจร

สร้างรายได้กลุ่ม ปีละ 4.67 ล้านบาท

          นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลสำเร็จการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยทราย หมู่ที่ 3 ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นกลุ่มต้นแบบในการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีศักยภาพการผลิตในพื้นที่ และบริหารจัดการกลุ่มอย่างเป็นระบบ ดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรอย่างครบวงจร ภายใต้แนวคิด “อยู่ดี มีสุข ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และมีเงินออม” โดยในปี 2564 ได้รับรางวัลชมเชยการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับประเทศ จากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร

    ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยทราย บริหารจัดการกลุ่มในรูปแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด มีเกษตรกรสมาชิกรวม 226 ราย เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2559 โดยมี นายกิตติศักดิ์ นาคกุล เป็นประธานกลุ่ม และเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดินระดับจังหวัดและระดับเขต สาขา ปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย โดยเป็นผู้ได้รับรางวัลพร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ด้านเศรษฐกิจการเกษตรดีเด่น ประจำปี 2564 ของมูลนิธิ ดร.สมนึก ศรีปลั่ง ซึ่งก่อนที่จะพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนจนประสบความสำเร็จนั้น ที่ผ่านมาเกษตรกรในชุมชนต่างประสบปัญหาภาวะหนี้สินครัวเรือน ด้านตลาดและมาตรฐานสินค้าเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานพลังงานจังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สำนักงานสาธารสุขจังหวัด สภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมให้การสนับสนุน รวมถึงผู้นำชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ได้ร่วมระดมความคิดในการแก้ไขปัญหา เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง โดยปัจจุบันทางกลุ่มมีกิจกรรมด้านการเกษตรและอื่น ๆ ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจำนวน 11 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โรงสีชุมชน โรงน้ำดื่มชุมชน กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร กลุ่มเลี้ยงผึ้ง กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มน้ำยางสด กลุ่มเลี้ยงกบ กลุ่มปุ๋ยหมัก กลุ่มปุ๋ยสั่งตัด และกลุ่มเลี้ยงปลาน้ำจืด ซึ่งสมาชิกจะกระจายอยู่ในกลุ่มต่าง ๆ ตามความถนัดและพื้นที่ของตนเอง โดยกิจกรรมที่มีความโดดเด่น สร้างรายได้ดี และประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม มีดังนี้

            

กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า จำหน่ายเห็ดสดและแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นข้าวเกรียบเห็ดนางฟ้า ใน 1 ปี สามารถปลูกเห็ดได้ 4 รอบ ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 75 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 700 กิโลกรัม/รอบการผลิต ราคาเห็ดสดเฉลี่ย 50 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรจำหน่ายให้พ่อค้าภายในจังหวัดเพื่อส่งไปยังจังหวัดภูเก็ต เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 140,000 บาท/คน/ปี หรือคิดเป็นรายได้รวมของกลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้าอยู่ที่ 560,000 บาท/ปี กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์สบู่น้ำผึ้ง เกษตรกรรับน้ำผึ้งมาจากกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งแล้วนำมาแปรรูปเป็นสบู่ ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 60 จำหน่ายให้ผู้มาศึกษาดูงานและผลิตตามคำสั่งซื้อ ส่วนร้อยละ 40 จำหน่ายทางออนไลน์ผ่าน Facebook และ Line ของเกษตรกรเอง ราคาขายอยู่ที่ 59 บาท/ก้อน เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 35,400 บาท/คน/ปี หรือคิดเป็นรายได้รวมของกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์สบู่น้ำผึ้งอยู่ที่ 212,400 บาท/ปี และกลุ่มเพาะเลี้ยงและแปรรูปปลาเม็ง ภายใต้การรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปลาเม็ง ตำบลทรัพย์ทวี เกษตรกรจะซื้อลูกพันธุ์มาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี ในราคาตัวละ 2 บาท ใน 1 ปี สามารถเลี้ยงปลาเม็งได้ 2 รุ่น ซึ่งในแต่ละรุ่นจะเลี้ยงประมาณ 500 ตัว โดยใช้อาหารปลาดุกสำเร็จรูป ปลาเม็งใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 18 เดือน เมื่อได้น้ำหนักตามมาตรฐานแล้วจึงจับขายหรือนำมาแปรรูปเป็นต้มโคล้งปลาเม็ง ยำปลาเม็งกึ่งสำเร็จรูปบรรจุกล่อง ส่งจำหน่ายให้แก่ผู้รวบรวมและตลาดในพื้นที่ และจำหน่ายผ่านเพจ “ปลาเม็งสุราษฎร์ธานี” และ “ปลาเม็ง Pla Meng” เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 16,000 บาท/คน/ปี ทั้งนี้ หากคิดเป็นรายได้รวมทั้ง 11 กลุ่ม จะเฉลี่ยอยู่ที่ 4.67 ล้านบาท/ปี

  ในระยะต่อไป วิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยทราย มีแนวทางการพัฒนากลุ่มให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนโดยการเชื่อมโยงกลุ่มกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชื่อมโยงเครือข่ายด้านการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรในพื้นที่และจังหวัดข้างเคียงเพื่อยกระดับเข้าสู่มาตรฐานสากล และเน้นการตลาดออนไลน์เพื่อความรวดเร็ว และเข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มได้มีการจำหน่ายผลผลิตในแต่ละกิจกรรมผ่าน Face book “ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยทราย” อีกทั้งยังมีเกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนทั่วไป เข้าศึกษาดูงานในแต่ละกิจกรรมของกลุ่มรวมกว่า 6,000 คน/ปี โดยกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การเพาะเลี้ยงและแปรรูปปลาเม็ง หากท่านในสนใจข้อมูลและผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยทราย หรือต้องการขอคำปรึกษา ศึกษาดูงาน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายกิตติศักดิ์ นาคกุล ประธานกลุ่ม โทร 08 9973 1779