กรมวิชาการเกษตร เล็งออกมาตรการ GAP Monkey Free Plus สยบปัญหาใช้ลิงเก็บมะพร้าว

กรมวิชาการเกษตร งัดมาตรการ “GAP Monkey Free Plus” สกัดข้อกล่าวหาใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าว ป้องอุตสาหกรรมส่งออกมะพร้าวไทยไปต่างประเทศ   ผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐ- สมาคม-ชมรมและบริษัทผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทย ร่วมหารือเดินหน้าตามมาตรการ  หวังสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ  ตอกย้ำไทยผลิตอาหารปลอดภัย พร้อมเป็นแนวทางสู่การผลิตมะพร้าวแบบยั่งยืน
       นายระพีภัทร  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า  จากข้อคิดเห็นขององค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรมของสหรัฐอเมริกา (People  for the Ethical treatment of Animals : PETA) กรณีการเก็บเกี่ยวมะพร้าวโดยใช้ลิงเก็บเป็นการทรมานสัตว์ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับมะพร้าวของไทยในการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ
        กรมวิชาการเกษตร จึงได้จัดทำร่างเอกสารการตรวจรับรองแปลงมะพร้าวที่ปราศจากการใช้ลิงในการเก็บเกี่ยว หรือ GAP Monkey Free Plus ซึ่งเป็นมาตรการที่นอกจากการจะเป็นการตรวจรับรองสวนมะพร้าวให้เข้าสู่ระบบผลิตพืชอาหารปลอดภัย (GAP) แล้วยังเพิ่มการตรวจรับรองว่า แปลงนี้ไม่ได้ใช้ลิงเก็บเกี่ยว  คาดว่าการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะช่วยรับรองได้ว่าผลิตภัณฑ์มะพร้าวเป็นผลผลิตที่มาจากแปลงที่ไม่ใช้ลิง  ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ
       ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรได้จัดประชุมหารือการดำเนินการตามมาตรการ GAP Monkey Free Plus ร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมมะพร้าว  ประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย บริษัทผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทย จำนวน 10 ราย ได้แก่ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด  บริษัท ชีวาดีโปรดักส์ จำกัด   บริษัท วราฟู้ด แอนด์ ดริงค์ จำกัด   บริษัท สุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด   บริษัท ไทยอกริฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)   บริษัท เอเชียติคอุตสาหกรรมเกษตร กำจัด   บริษัท ไทยลี ฟู้ดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด   บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารเชฟช้อย จำกัด   และบริษัท ไทยโคโคนัท จำกัด
        นอกจากนี้ยังมีภาครัฐ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร  สำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ  และกรมปศุสัตว์  โดยหากมาตรการนี้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน กรมจะดำเนินการในขั้นต่อไป คือ การรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน
       “เชื่อมั่นว่าจากการที่กรมวิชาการเกษตรประสบความสำเร็จในการจัดทำมาตรการ COVID Free Plus ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อทุเรียนไทยและแก้ไขปัญหาการส่งออกทุเรียนไทยแล้วนำประสบการณ์ดังกล่าวมาช่วยแก้ปัญหาผลกระทบจากข้อกล่าวหาของ PETA ด้วย  โดยการจัดทำมาตรการ GAP monkey free plus กรมจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทยและจะเป็นผู้เชื่อมโยงให้ทุกภาคส่วนพอใจและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน   และเมื่อการส่งออกมีอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรขายผลผลิตได้สร้างรายได้ที่มั่นคง  รวมทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการสามารถยืนหยัดได้ในเวทีแข่งขันระดับโลก”  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
ที่มา : เกษตรทำกิน