‘กล้วยไข่กำแพงเพชร GI’ สินค้าอัตลักษณ์ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรม เพิ่มศักยภาพการผลิต

‘กล้วยไข่กำแพงเพชร GI’ สินค้าอัตลักษณ์ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรม เพิ่มศักยภาพการผลิต

นายเกษม ชาติทอง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดกำแพงเพชร นับเป็นแหล่งปลูกกล้วยไข่ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากจังหวัดจันทบุรี เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่เพาะปลูก และสภาพอากาศเหมาะแก่การเจริญเติบโต ประกอบกับเกษตรกรในพื้นที่มีความชำนาญในการปลูกกล้วยไข่มายาวนาน ส่งผลให้กล้วยไข่ของจังหวัดกำแพงเพชรมีคุณภาพสูงได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจากข้อมูลของกรมศุลกากร (ข้อมูล ณ 12 กรกฎาคม 2565) พบว่า ปี 2564 ไทยส่งออกกล้วยไข่ ปริมาณ 8,168 ตัน มูลค่า 211 แสนล้านบาทโดยประเทศส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและฮ่องกง

สำหรับสถานการณ์ผลิตกล้วยไข่ของจังหวัดกำแพงเพชร ปี 2565 (ข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ณ เดือนกรกฎาคม 2565) พบว่า มีพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ 2,213 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูก 461 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอเมืองกำแพงเพชร 1,204 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 54 ของพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัด เกษตรกรนิยมปลูกกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีลักษณะโดดเด่น ผิวเปลือกบาง ผลเล็ก เนื้อมีสีเหลือง รสชาติหวาน และที่สำคัญกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร ยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จำนวน 74 ราย พื้นที่ปลูกรวม 361 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ เมืองกำแพงเพชร คลองขลุง คลองลาน และโกสัมพีนคร

สศท.12 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ในพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอ พบว่า เกษตรกรนิยมปลูกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ของทุกปี เพื่อให้ผลผลิตสามารถออกสู่ตลาดช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ตรงกับการจัดงานประเพณีสารทไทยเมืองกำแพงเพชรทำให้ผลผลิตมีราคาสูง ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ประมาณ 8 – 10 เดือน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,653 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 15 บาท/กิโลกรัม ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 จำหน่ายให้กับพ่อค้าท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และล้งภายในจังหวัด รองลงมาผลผลิต ร้อยละ 10 เกษตรกรแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าเป็น ข้าวเกรียบจากกล้วยไข่ และน้ำพริกนรกจากปลีกล้วยไข่ ส่งจำหน่ายภายในจังหวัดและผลผลิตที่เหลืออีกร้อยละ 9 ส่งจำหน่ายห้างสรรพสินค้า Central และ Top Market รวมถึงแหล่งรับซื้อในจังหวัด

ในส่วนของจังหวัดกำแพงเพชร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนากล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร GI โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรกรจังหวัดกำแพงเพชร ได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การให้น้ำ อาทิ ท่อ PVC หัวมินิสปริงเกอร์ ให้แก่เกษตรกรของกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยไข่กำแพงเพชร จำนวน 20 ราย เพื่อลดระยะเวลาการให้น้ำของเกษตรกร และกล้วยไข่ยังได้รับน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อการออกผลผลิต ส่งผลให้ผลผลิตของเกษตรกร 20 ราย ของกลุ่มแปลงใหญ่ ในปี 2564 เฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น จากเดิมให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,653 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มเป็น 1,964 กิโลกรัม/ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 นอกจากนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้คิดค้นการทำให้กล้วยไข่ต้นเตี้ย ขยายขนาดผล เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และการแปรรูปด้วยนวัตกรรม อาทิ น้ำกล้วยไข่ แยมกล้วยไข่ ชาเกสรดอกกล้วยไข่ ข้าวเกรียบจากแป้งกล้วยไข่ คุกกี้ธัญพืชจากแป้งกล้วยไข่ โดนัทจากแป้งกล้วยไข่ เส้นสปาเก็ตตี้จากแป้งกล้วยไข่ น้ำพริกเผาจากปลีกล้วยไข่ เป็นต้น รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่ม อาทิ อาหารสัตว์จากใบกล้วย ปุ๋ยจากต้นกล้วย เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์กล้วยไข่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ควรสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีการป้องกันวาตภัย พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไข่ปลอดสารหรือกล้วยไข่อินทรีย์ ส่งเสริมการปลูกกล้วยไข่รูปแบบผสมผสาน ประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์กล้วยไข่ GI กำแพงเพชรอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจ ในการปลูกกล้วยไข่ อาทิ การสร้างราคาที่แตกต่างจากสินค้ากล้วยไข่ทั่วไป พัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์และตลาดออฟไลน์ เพื่อให้กล้วยไข่เป็นสินค้าอัตลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรต่อไป หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์ผลิตกล้วยไข่ GI ของจังหวัดกำแพงเพชร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สศท.12 นครสวรรค์ โทร 0 5680 3525 อีเมล [email protected]