ไทย คือ ผู้นำการผลิตน้ำนมคุณภาพสูงในภูมิภาคอาเซียนและสากล

ม.เกษตรศาสตร์ จับมือ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าประเทศไทย คือ ผู้นำการผลิตน้ำนมคุณภาพสูงในภูมิภาคอาเซียนและสากล
วันที่ 25 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการทำการแทน ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ร่วมกันลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านโคนมและอุตสาหกรรม เป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 – 2569 โดยมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ตั้งเป้าประเทศไทยคือผู้นำในการผลิตน้ำนมคุณภาพสูง หรือ นมพรีเมียม ในภูมิภาคอาเซียนและสากล
ทั้งนี้ ผู้ร่วมลงนามเป็นพยาน ได้แก่ ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม รศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ รักษาการคณบดีคณะเกษตร นายสมพร ศรีเมือง รองผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย นายวิศิษฎ์ แสงคล้อย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ได้มีความร่วมมือทางวิชาการด้านโคนมและอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 – 2564 สร้างผลงานโดดเด่นหลายเรื่องที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมโคนมและนมโคไทยมีความมั่นคง สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
โดยระยะเริ่มต้น ในปีพ.ศ.2549-2554 ความร่วมมือมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมและความสามารถในการให้ผลผลิตของโคนมไทย
ระยะที่สอง ปีพ.ศ.2554 – 2559 เน้นเรื่องการพัฒนาระบบการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมของโคนม การพัฒนาการจัดเก็บและใช้ประโยชน์จากข้อมูล ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่พัฒนาและนำเทคโนโลยีจีโนมมาใช้ในเชิงปฏิบัติในการพัฒนาโคนมของเกษตรกร
ระยะที่สาม ปีพ.ศ. 2559 – 2564 ขยายขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมวิชาการทุกสาขาด้านโคนมและอุตสาหกรรม โดยขยายตลาดน้ำนมและน้ำเชื้อพันธุ์โคนมที่ผลิตโดยคนไทยให้ไปสู่การยอมรับและใช้ประโยชน์ในระดับสากล รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาบุคลกรและแนะนำเชิงเทคนิคในการผลิตโคนมเชิงการค้า ให้กับราชอาณาจักรภูฏานและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
สำหรับระยะที่สี ปี พ.ศ. 2564 – 2569 ที่ได้ลงนามความร่วมมือต่ออีกวาระหนึ่ง เป็นระยะเวลา 5 ปี ในครั้งนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ อ.ส.ค. จะมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร ได้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการ นักวิชาการ นิสิต และผู้สนใจให้มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีร่วมสมัย สามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ นำไปสู่ความเป็นผู้นำในการผลิตน้ำนมคุณภาพ หรือ นมพรีเมียมในภูมิภาคอาเซียนและสากล
รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ หัวหน้าทีมงานโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านโคนมและอุตสาหกรรม ระหว่าง มก. และ อ.ส.ค. กล่าวว่า ผลงานเด่นล่าสุด คือ การพัฒนาระบบการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมของโคนมรายตัว ซึ่งทำให้เกิดความแม่นยำในการคัดเลือกโคนมเพิ่มขึ้น เกษตรกรได้โคนม ทดแทนรุ่นใหม่ที่มีพันธุกรรมดีตรงตามความต้องการ ทำให้ลดต้นทุนและได้ผลกำไรจากการผลิตโคนมมากยิ่งขึ้น โดยผลงานนี้ได้รับการยอมรับให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาโคนมในเอเซีย ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายละเอียด ดังต่อไปนี้
การพัฒนาระบบการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมของโคนมรายตัว สำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ (เช่น ผลผลิตน้ำนม อายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรก คุณภาพน้ำนม ประสิทธิภาพการสืบพันธุ์) ที่มีความแม่นยำสูงกว่าวิธีการที่ใช้อยู่เดิม และถูกนำไปใช้ในการพิสูจน์และผลิตน้ำเชื้อพันธุ์โคแช่แข็งของ อ.ส.ค. เพื่อการจำหน่ายและบริการให้กับเกษตรกร ผลการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาร่วมระหว่างสองหน่วยงานดังกล่าวมีผลทำให้ความแม่นยำในการคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
ทำให้เกษตรกรมีโอกาสได้โคนมทดแทนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ตรงกับที่ตนคัดเลือกได้เร็วขึ้น ร้อยละ 14.8 (7.4 เดือน) ของระยะห่างระหว่างรุ่น (50 เดือน) คิดเป็นต้นทุนลดลงมูลค่า 12,580 บาท/ตัว (ต้นทุนการเลี้ยงโคนมเฉลี่ย 1,700 บาทต่อเดือน) ได้โคนมทดแทนรุ่นใหม่มีความสามารถในการให้ผลผลิตเพิ่ม 31.54 กิโลกรัม/ตัว/ปี หรือมีรายได้เพิ่ม 577.18 บาท/ตัว/ปี (ราคาน้ำนม 18.5 บาท/กิโลกรัม) ระยะเวลาในการตัดสินใจคัดเลือก (พิสูจน์) พ่อพันธุ์โคนมเพื่อการผสมเทียม (ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็ง) จาก 73 เดือน เหลือเพียง 24 เดือน หรือเร็วกว่าเดิม 49 เดือน (ไม่จำเป็นต้องรอการพิสูจน์ลูกสาว) และลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู 131,369 บาท/พ่อพันธุ์ 1 ตัว (จาก 195,713 บาท/ตัว เหลือเพียง 64,344 บาท/ตัว) มูลค่าน้ำเชื้อพันธุ์โคนมแช่แข็งที่ผลิตได้จากพ่อพันธุ์ที่ผ่านการพิสูจน์แต่ละตัว (40,000 โด๊ส) เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาท/พ่อพันธุ์ 1 ตัว [วิธีการเดิม 3.8 ล้านบาท = (10,000 โด๊ส x 50 บาท) + (30,000 โด๊ส x 110 บาท) และ วิธีการใหม่ (จีโนม) 5.5 ล้านบาท = 40,000 โด๊ส x 110 บาท]
สร้างโอกาสในการแข่งขันเชิงการค้า ผลกำไร ความมั่นคงทางอาหาร ความสงบสุข และภูมิรู้ให้กับสังคมไทยได้มากขึ้น นอกจากนี้ โคนมทดแทนที่มีคุณสมบัติดีเหล่านั้นสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่จัดการให้ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงผลิตและปล่อยกรีนเฮาส์ก๊าซและของเสียน้อยลง
ความสัมฤทธิ์ผลข้างต้นเพิ่มความน่าสนใจ ความเชื่อมั่น และความต้องการใช้ประโยชน์จากน้ำเชื้อพันธุ์โคนมแช่แข็งและพันธุกรรมโคนม ทั้งจากภายในและต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งยังได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกของ Dairy Asia (FAO, UN) ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบการปรับปรุงพันธุ์โคนมสมัยใหม่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ และขอความร่วมมือทางเทคนิคระดับนานาชาติด้านการปรับปรุงพันธุ์โคนม ข้อมูลและความรู้ที่ได้ยังถูกนำไปต่อยอดในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่น พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะของเกษตรกร และใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เศรษฐกิจของรัฐบาลไทย
ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งสองหน่วยงานรวบรวมข้อมูลพันธุ์ประวัติและลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจโคนม จำนวน 3,939 ตัว จากเกษตรกร จำนวน 231 ฟาร์ม ทั่วประเทศไทย เก็บตัวอย่างเลือด/น้ำเชื้อพันธุ์โคนมรายตัว และจีโนไทป์พันธุกรรมระดับจีโนม (SNPs) จำนวน 30K ถึง 150k ตำแหน่ง ของโคนม จำนวน 2,428 ตัว ประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจของโคนมรวม 3,939 ตัว
จัดทำหนังสือความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมโคนม อ.ส.ค. (รายปี) จำนวน 5 เล่ม (2560 – 2564) เพื่อกระจายให้เกษตรกรและผู้สนใจใช้ประโยชน์ (http://www.dpogenetics.com/index…/dpo-siredam-summary-menu) สนับสนุนการผลิตผลงานวิจัยและวิชาการ 16 เรื่อง (https://pirun.ku.ac.th/…/menu-public-present/4-article-4) พัฒนานิสิตระดับปริญญาโท จำนวน 3 คน และปริญญาเอก จำนวน 4 คน อบรมสัมมนา เพิ่มพูนความรู้ สร้างความเข้าใจ และพัฒนาทักษะในการพิจารณาคัดเลือกและจับคู่ผสมพันธุ์ ภายในประเทศไทย จำนวน 16 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมรวม 1,008 คน และต่างประเทศ (ราชอาณาจักรภูฏานและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา) จำนวน 4 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมรวม 124 คน ให้ความรู้และแนะนำโปรแกรมการปรับปรุงพันธุ์โคนมให้กับรัฐบาลพม่าและภูฏาน พัฒนาบุคลากรขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย 1 ราย (คุณพจน์ ฤทธิ์สไว) พัฒนาแผนการผลิต พิสูจน์ และจำหน่ายน้ำเชื้อพันธุ์โคนมแช่แข็ง